เครื่องแต่งกายข้าราชการครู

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามี ๒ ประเภท ประเภทแรกคือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่กำหนดตำแหน่งตามพระราช บัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๓๘ ก.มาตรา ๓๘ ข. ซึ่งมิใช่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติราชการในสถาน ศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาขึ้นไป และมาตรา ๓๘ ค.(๑) ข้าราชการครูประเภทนี้อยู่ในบังคับการประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติสภาครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับเงินเดือนและเงินวิทยฐานะตามพระราชบัญญัติเงินเดือนเงินวิทยฐานะและ เงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ ตำแหน่งเหล่านี้ได้แก่ ครูผู้ช่วย ครู รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัด/กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัด/กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศึกษานิเทศก์ เป็นต้น เรียกตำแหน่งเหล่านี้รวมกันว่าเป็น ตำแหน่งที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ตำแหน่งประเภทที่ ๒ ได้แก่ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่กำหนดตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๓๘ ค.(๒) ข้าราชการครูประเภทนี้ไม่อยู่ในบังคับการประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติ สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามที่กำหนดไว้สำหรับข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งเหล่านี้ได้แก่ เจ้าพนักงานธุรการ นักวิชาการศึกษา เป็นต้น ปฏิบัติราชการอยู่ในสถานศึกษาที่มีนักเรียนตั้งแต่ ๘๐๐ คนขึ้นไป สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด/กรุงเทพมหา นคร เรียกตำแหน่งเหล่านี้รวมกันว่าเป็น
ตำแหน่งที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบ วิชาชีพนอกจากมีชื่อตำแหน่งแล้วยังมีวิทยฐานะตามมาตรา ๓๙ ด้วย เช่นตำแหน่งครู มีวิทยฐานะ ๔ ระดับ คือครูชำนาญการ (รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๒) ครูชำนาญการพิเศษ (รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๓) ครูเชี่ยวชาญ (รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๔) และครูเชี่ยวชาญพิเศษ (รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๕) แต่ที่น่าแปลกที่สุดในโลกคือวิทยฐานะไม่ถือว่าเป็นระดับของตำแหน่ง ดังนั้นตำแหน่งครูแม้ไม่มีหรือมีวิทยฐานะในระดับใดก็ถือว่าเป็นครูเหมือนกัน จำแนกไม่ออกว่าใครเป็นหมู่เป็นจ่า เพราะ ก.ค.ศ.ตีความว่าวิทยฐานะไม่ใช่ระดับตำแหน่ง
เมื่อจำเป็นต้องไปเกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ได้รับสิทธิบางประการที่ให้ เท่ากันไม่ได้ จึงต้องไปควานหาว่าจะจัดให้เป็นหมู่เป็นจ่าได้ด้วยหลักใด สุดท้ายไปงัดเอาการได้รับเงินเดือนตามพระราชบัญญัติเงินเดือนเงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ มาจำแนก ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดสิทธิตามอันดับเงินเดือนไว้ ๒ เรื่อง คือเรื่องสิทธิการเบิกจ่ายเกี่ยวกับกฎหมายด้านการเงินการคลังและสวัสดิการ และเรื่องการประดับอินทรธนูและเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูเมื่อแต่ง เครื่องแบบราชการ

สำหรับสิทธิการการประดับอินทรธนูและเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูเมื่อแต่งเครื่องแบบราชการนั้น ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดให้ใช้เครื่องหมายตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๐๒ ง วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓ หน้า ๒๕-๒๖ ซึ่งได้เทียบสิทธิการประดับอินทรธนูและเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูเมื่อแต่งเครื่องแบบราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รับเงินเดือนในอันดับต่าง ๆ กับข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทวิชาการ ดังนี้

  • รับเงินเดือนในอันดับครูผู้ช่วย และอันดับ คศ.๑ ขั้นที่ ๒ หรือต่ำกว่า เทียบกับข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
  • รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๑ ตั้งแต่ขั้นที่ ๓ ของอันดับขึ้นไป และอันดับ คศ.๒ เทียบกับข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ
  • รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๓ เทียบกับข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ
  • รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๔ เทียบกับข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ
  • รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๕ เทียบกับข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ